ไขรหัสตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง (清肺排毒汤) และข้อควรระวังในการใช้

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  33855 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไขรหัสตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง (清肺排毒汤) และข้อควรระวังในการใช้

ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง เป็นตำรับยาที่คณะกรรมการสาธารณสุขและสุขภาพแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน (National Health Commission of the People's Republic of China) ประกาศไว้ในแนวทางการตรวจรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 6 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020 [1]  เพื่อรักษาผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อแล้วโดยปรับตามความเหมาะสมในระยะการรักษาและสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคลและสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนจีนเท่านั้น


แนวคิดในการตั้งตำรับยานี้ อ้างอิงมาจากคัมภีร์ซางหานจ๋าปิ้งลุ่น (伤寒杂病论) ของปรมาจารย์แพทย์จีนจางจ้งจิ่ง (张仲景) ซึ่งเป็นคัมภีร์สมัยปลายยุคตงฮั่น (ค.ศ.148 – 220) เป็นการนำตำรับยาจีนพื้นฐาน 4 ตำรับมารวมกัน ได้เป็นตำรับยาใหม่ และปรับเปลี่ยนสูตรโดยเอาตัวยาเดิมบางชนิดออกและเพิ่มตัวยาใหม่บางชนิดในตำรับยาจีนพื้นฐานเพื่อให้สอดคล้องต่อการรักษาอาการโรค COVID – 19  ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังประกอบด้วยตัวยาทั้งสิ้น 21 ชนิด ดังนี้

ลำดับที่ชื่อจีนชื่อจีนกลางชื่อละตินปริมาณ
1麻黄หมาหวงEphedrae Herba9 กรัม
2炙甘草จื้อกันเฉ่าGlycyrrhizae Radix et Rhizoma Preparata6 กรัม
3杏仁ซิ่งเหรินArmeniacae Amarum Semen9 กรัม
4生石膏เซิงสือเกาGypsum Fibrosum15 – 30 กรัม (ต้มก่อน)
5桂枝กุ้ยจือCinnamomi Ramulus9 กรัม
6泽泻เจ๋อเซี่ยAlismatis Rhizoma9 กรัม
7猪苓จูหลิงPolyporus9 กรัม
8白术ไป๋จู๋Atractylodis Macrocephalae Rhizoma9 กรัม
9茯苓ฝูหลิงPoria15 กรัม
10柴胡ไฉหูBupleuri Radix16 กรัม
11黄芩หวงฉินScutellariae Radix6 กรัม
12姜半夏เจียงปั้นเซี่ยPinelliae Rhizoma Praeparatum Cum
Zingibere et Alumina
9 กรัม
13生姜เซิงเจียงZingiberis Rhizoma Recens9 กรัม
14紫菀จื๋อหว่านAsteris Radix9 กรัม
15冬花ตงฮวาFarfarae Flos9 กรัม
16射干เซ่อกันBelamcandae Rhizoma9 กรัม
17细辛ซี่ซินAsari Radix et Rhizoma6 กรัม
18山药ซันเหย้าDioscoreae Rhizoma12 กรัม
19枳实จื่อสือAurantii Immaturus Fructus6 กรัม
20陈皮เฉินผีCitri Reticulatae Pericarpium6 กรัม
21藿香ฮั่วเซียงPogostemonis Herba9 กรัม

คำอธิบายตำรับ
ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังประกอบด้วยตำรับยาจีนพื้นฐาน 4 ตำรับ ได้แก่
1.  หมาซิ่งสือกันทัง (麻杏石甘汤) [2]  มีส่วนประกอบ ดังนี้



การออกฤทธิ์    
เผ็ด เย็น ระบายความร้อน ระบายชี่ของปอด ควบคุมอาการหอบ

สรรพคุณ
รักษาอาการไอหอบจากลมร้อนมากระทบ มีอาการไข้สูงไม่ลด อาจมีหรือไม่มีเหงื่อ ไอถี่จากภาวะชี่ย้อนกลับ ถ้าเป็นหนักจะมีอาการไอหอบรุนแรง คอแห้ง กระหายน้ำ ลิ้นมีฝ้าบางขาวหรือเหลือง ชีพจรลื่นเร็ว

ตํารับยานี้สามารถเพิ่มหรือลดขนาดยาให้เหมาะสมสําหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอหอบที่มีสาเหตุจาก ปอดร้อน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และหอบหืดที่มีสาเหตุจากปอดหรือหลอดลมอักเสบ

หมายเหตุ
ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง ใช้หมาหวง 9 กรัม  ซึ่งสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้ยาที่ผลิตขึ้นโดยมีลําต้นและ/หรือกิ่งเอเฟดรา (Ephedra) หรือ หมาหวง คิดเป็นน้ำหนักลําต้นและ / หรือกึ่งแห้งสําหรับรับประทานในมื้อหนึ่งไม่เกิน 2 กรัม เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีพิษ ในกรณีตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีนในการสั่งจ่ายเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย

2. อู่หลิงส่าน 五苓散 [3]  มีส่วนประกอบ ดังนี้



การออกฤทธิ์    
ขับปัสสาวะ ระบายความชื้น ให้ความอบอุ่น ทําให้ชี่ไหลเวียน

สรรพคุณ
รักษาภาวะความชื้นของน้ำที่ตกค้างอยู่ภายใน โดยมีอาการดังนี้ ปวดศีรษะ ตัวร้อน คอแห้ง กระหายน้ำ แต่เมื่อดื่มน้ำแล้วจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะขัด ลิ้นมีฝ้าขาวลื่น หรือขาวหนา ชีพจรลอย หรือมีอาการบวมน้ำ ถ่ายเหลว หรือมีเสมหะเหลวตกค้าง วิงเวียนหรือมึนศีรษะ ท้องน้อยมีอาการเจ็บเกร็ง

ตํารับยานี้สามารถเพิ่มหรือลดขนาดยาให้เหมาะสมสําหรับผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารและลําไส้อักเสบเฉียบพลัน มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นเวลาประจํา โรคอหิวาต์เทียม ลมพิษที่มีสาเหตุจากความเย็น โรคไต อักเสบเฉียบพลันระยะแรก ถุงอัณฑะบวมน้ำ มีปัสสาวะตกค้างจากความชื้น และน้ำตกค้างอยู่ภายใน

3. เซ่อกันหมาหวงทัง 射干麻黄汤 [4]  มีส่วนประกอบ ดังนี้



การออกฤทธิ์    
อบอุ่นปอด กระตุ้นการขับน้ำและขับเสมหะ

สรรพคุณ
ใช้รักษาโรคที่เกิดจากความชื้นและเย็นอุดกั้นอยู่ภายในปอด ทำให้มีอาการไอ หอบ ในคอมีเสียงของเสมหะคล้ายเสียงนกน้ำ (痰鸣) หรือแน่นบริเวณทรวงอก มีเสมะหะและน้ำลายมาก ลิ้นฝ้าขาวเหนียว ชีพจรตึงแน่น ตํารับยานี้สามารถเพิ่มหรือลดขนาดยาให้เหมาะสมสําหรับผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืด หลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง

หมายเหตุ
1.  ตำรับยาเซ่อกันหมาหวงทังได้ปรับเปลี่ยนสูตร โดยตัดตัวยาอู่เว่ย์จื่อ (五味子) และต้าเจ่า (大枣) ออกจากตำรับ

เนื่องจากอู่เว่ย์จื่อมีฤทธิ์เหนี่ยวรั้ง สามารถทำให้ปัจจัยเกิดโรคถูกเก็บกัก ไม่ถูกขับออก ส่วนต้าเจ่าเป็นยาบำรุง ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความชื้นและความร้อน ไม่เป็นผลดีต่อการสลายเสมหะ

2.  ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง  ใช้ซี่ซิน (细辛) 6 กรัม ซึ่งในเภสัชตำรับของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กำหนดปริมาณการใช้ที่ปลอดภัยคือ 1-3 กรัม / วัน เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีพิษ การใช้น้ำหนักเกินกว่ากำหนดจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีนในการสั่งจ่ายอย่างเหมาะสมและปลอดภัย

4. เสี่ยวไฉหูทัง小柴胡汤 [3]  มีส่วนประกอบ ดังนี้



การออกฤทธิ์    
ปรับสมดุลเส้นเส้าหยาง (ถุงน้ำดี)

สรรพคุณ
ใช้รักษาโรคที่เกิดจากพิษไข้เข้าสู่เส้นเส้าหยาง (ถุงน้ำดี) ทําให้มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว แน่นเสียดทรวงอกและชายโครง เซื่องซึม เบื่ออาหาร หงุดหงิด คลื่นไส้ ปากขม คอแห้ง ตาลาย ลิ้นมีฝ้าขาวบาง ชีพจรตึง หรือสตรีที่เป็นไข้เนื่องจากกระทบความเย็น หรือความร้อนเข้าสู่ระบบเลือด

ตํารับยานี้สามารถเพิ่มหรือลดขนาดยาให้เหมาะสมสําหรับผู้ป่วยโรคเส้าหยาง (ถุงน้ำดี) ซึ่งมีการแสดงออกคือเป็นโรคไข้หวัด ไข้มาลาเรีย ท่อน้ำดีติดเชื้อ โรคตับอักเสบ เนื้อเยื่อทรวงอกอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง

หมายเหตุ
ตำรับยาเสี่ยวไฉหูทังได้ปรับเปลี่ยนสูตร โดยตัดตัวยาเหรินเซิน (人参) และต้าเจ่า (大枣) ออกจากตำรับ เนื่องจาก เหรินเซินสามารถฟื้นฟูเจิ้งชี่ (ชี่พื้นฐาน) เสริมสร้างหยางชี่ ซึ่งอาจเกิดความร้อน อันไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย และต้าเจ่าเป็นยาบำรุง ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความชื้นและความร้อน ไม่เป็นผลดีต่อการสลายเสมหะ
 
นอกจากตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังจะเกิดจากตำรับยาจีนพื้นฐาน 4 ตำรับมารวมกันแล้ว ยังได้เพิ่มตัวยาใหม่อีก 4 ชนิด เพื่อให้สอดคล้องต่อการรักษาอาการโรค COVID – 19  ตัวยาดังกล่าว ได้แก่ ซันเหย้า (山药) ช่วยฟื้นฟูเจิ้งชี่ (ชี่พื้นฐาน) กระตุ้นระบบการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร บำรุงปอดเสริมอิน สามารถป้องกันผลข้างเคียงจากฤทธิ์การขับกระจายความชื้นของยารสเผ็ดและฤทธิ์เย็นของยารสขมในตำรับ  จื่อสือ (枳实) มีสรรพคุณแก้อาการแน่นหน้าอก ชักนำชี่ให้ไหลเวียนลงล่าง ทะลวงชี่ ขับอุจจาระ สามารถช่วยส่งเสริมการขับปัจจัยก่อโรคออกจากร่างกาย ส่วนเฉินผี (陈皮) และ ฮั่วเซียง (藿香) จัดเป็นตัวยาที่มีกลิ่นหอมเย็น สามารถปรับสมดุลการไหลเวียนชี่ ปลุกกระตุ้นม้าม สลายเสมหะ ช่วยแก้อาการท้องอืดแน่น อาเจียน

วิธีรับประทาน
รับประทานในรูปแบบยาต้ม วันละ 2 เวลา (เช้า-เย็น) หลังอาหารประมาณ 40 นาที เป็นเวลา 3 วัน นับเป็น 1 คอร์ส การรักษา

หลังจากรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยควรดื่มน้ำข้าวต้มอุ่น ๆ ตาม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการคอแห้ง สารน้ำพร่อง ดังนั้น น้ำข้าวต้มถือเป็นตัวยาที่ 22 ของตำรับนี้ เนื่องจากมีสรรพคุณในการบำรุงกระเพาะอาหาร สร้างสารน้ำ และระงับอาการกระหายน้ำ อีกทั้งการรับประทานน้ำข้าวต้มร้อน ๆ ยังสามารถช่วยในการขับเหงื่อ ระบายความร้อนอีกด้วย

ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีน สามารถปรับขนาดการใช้ของตัวยาเซิงสือเกา (生石膏) หรือแร่ยิปซั่มตามอาการของไข้ หากไม่มีไข้ให้ใช้แต่น้อย กรณียังไม่ดีขึ้นให้รับประทานอีก 1 คอร์ส หรือปรับตัวยาให้เหมาะสมกับคนไข้เฉพาะราย

ข้อควรระวังในการใช้
ในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องอย่างมาก เช่น ภาวะม้ามพร่องอ่อนแอ การขับเคลื่อนชี่ในไตไม่เพียงพอ ควรใช้คู่กับยาที่มีสรรพคุณเสริมชี่บำรุงม้าม เนื่องจากสรรพคุณของตำรับยานี้เน้นไปทางระบายน้ำออก จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะอินพร่อง

นอกจากนี้ในตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทังมีตัวยา 2 ชนิดที่มีพิษ คือ ซี่ซิน (细辛) และหมาหวง (麻黄) จึงไม่ควรซื้อมารับประทานเอง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนจีนในการสั่งจ่ายเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย

ถอดบทเรียนสู้ COVID-19
ผู้สื่อข่าวจาก Economic information Daily สัมภาษณ์ศาสตราจารย์จาง ป๋อ หลี่ บันทึกในถอดบทเรียนสู้ COVID-19 ตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศจีน ลงวันที่ 18 มีนาคม 2020 [5]

อาการของผู้ป่วยขณะที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 30% พบว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงและหายใจ สั้น และอีกประมาณ 40% ของผู้ป่วยพบว่ามีอาการไอ จากการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์แผนจีนพบว่าลิ้นของ ผู้ป่วยมีลักษณะแดงฝ้าเหลืองเหนียว หรือลิ้นซีดอ้วนฝ้าขาวเหนียวเป็นหลัก ชีพจรมีลักษณะลื่นเป็นส่วนมาก

จากอาการที่กล่าวมาข้างต้นพบว่าโรคปอดอักเสบจากเชื้อ COVID-19 มีความสัมพันธ์กับปัจจัยก่อโรคชนิดความชื้นในทางการแพทย์แผนจีน ซึ่งสามารถแสดงอาการออกมาในลักษณะภาวะร้อนชื้นและภาวะเย็นขึ้นได้ เมื่อวินิจฉัยแยกแยะภาวะโรคแล้ว จึงมีการใช้ยาจีนตํารับ เซวียนเฟ่ยป้ายตู๋ทัง(宣肺败毒汤)และ ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง(清肺排毒汤)เป็นตํารับยาหลัก ผู้ป่วยส่วนน้อยมีการใช้ยาจีนชนิดผงชงดื่มร่วมด้วยโดยมีการปรับลดตัวยาตามอาการ นอกจากนี้ ยังจัดให้ผู้ป่วยได้มีการออกกําลังกายทางวิถีแพทย์จีนเช่น รําไท้เก๊ก และรํามวยจีน ปาต้วนจิ่ง(八段锦)รวมทั้งมีการพอกยาจีนตามจุดฝังเข็มต่าง ๆ พบว่าอาการของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลําดับ

https://www.facebook.com/1680636583/posts/10213845511206874/?d=n คลิปสถิติการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนในการดูแลผู้ป่วยโควิดในประเทศจีนสัมภาษณ์ศาสตราจารย์จาง ป๋อ หลี่

อย่างไรก็ตามในแนวทางในการรักษาโรคระบาดปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ทดลองใช้ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 3 มีนาคม 2020 ได้แบ่งระยะของโรคทางการแพทย์แผนจีนออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะติดตามเฝ้าระวัง ระยะรักษา (ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว)และระยะฟื้นฟู โดยมีการจำแนกกลุ่มอาการทางการแพทย์แผนจีนในระยะรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงขั้นวิกฤตอีก 7 กลุ่มอาการ มีตำรับที่ใช้กว่า 10 ตำรับและปรับลดตามร่างกายของผู้ป่วยร่วมด้วยเสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของศาสตร์การแพทย์แผนจีนคือการรักษาโดยจำแนกกลุ่มอาการ (辨证论治) โดยมี清肺排毒汤 เป็นหนึ่งในตำรับที่มีการใช้ในระยะรักษา

 ในส่วนของตำรับที่มีการเสนอเพื่อรับประทานในการป้องกัน(中药预防方)นั้นเนื่องจากความแตกต่างของสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ จึงมีการเสนอตำรับออกมากว่า 10 ตำรับ จากหลายมณฑล เช่น หูเป่ย ปักกิ่ง เจียงซี เทียนจิน กวางตุ้งเป็นต้น ซึ่งการรับประทานยาสมุนไพรนั้นเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการฟื้นฟูดูแลชี่พื้นฐาน(正气-เจิ้งชี่)หรือหากเปรียบกับแพทย์ปัจจุบันจะหมายถึง ภูมิคุ้มกันของร่างกายนั่นเอง ในหลายมณฑลจึงมีการเสนอการหย่างเซิงหรือการดูแลสุขภาพในแนวทางการแพทย์แผนจีนไว้ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น [6] ได้แนะนำวิธีการดูแลตนเองสำหรับประชาชนทั่วไป ในการดูแลกายและใจของตนเอง ดังนี้

1. กลุ่มพนักงานออฟฟิศหรือผู้ที่ต้องอยู่ในท่าทางซ้ำๆเป็นเวลานาน เมื่อถึงเวลาพัก ควรลุกขึ้นออกกำลังกาย ขยับเขยื้อนร่างกาย เช่น การรำปาต้วนจิ่ง(八段锦) การเคาะเส้นลมปราณ(拍打操)โดยกระทำเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของเลือดลม กล้ามเนื้อและเส้นเอนคลายตัว

 

 


2. การทานอาหารสุขภาพ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับตนเอง และอาหารในเมนูหย่างเซิงต่างๆทางการแพทย์แผนจีน 

-----> คลิกที่นี่ รวมสูตรเมนูอาหารหย่างเซิงสุขภาพ

3. การพักผ่อน พักผ่อนในเวลาที่เหมาะสม พอดีกับตนเอง ผ่อนคลายด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นหรือสมุนไพรแช่เท้าก่อนนอน นวดกดจุดจู๋ซานหลี่ และ จุดหย่งเชวียน ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ดีและมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

-----> คลิกที่นี่  สอนวิธีนวดกดจุด 12 จุด อายุวัฒนะ

4. การป้องกันในช่วงเวลาพิเศษเช่น ภูมิคุ้มกันลดลง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มอาการชี่ของปอดพร่องทางการแพทย์แผนจีน จะมีอาการแสดง เช่น เหนื่อยง่าย เสียงพูดเบาลง หายใจสั้นลง เหงื่อออกง่าย ไม่ทนร้อนทนหนาวและกลัวลม สาเหตุมักเกิดจากทำงานตรากตรำ พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอารมณ์เศร้าโศกต่อเนื่องนานๆ หรือโมโหง่าย จนทำให้ชี่ปอดอ่อนแอ สามารถปรึกษาแพทย์แผนจีนใกล้บ้าน ในการรับประทานยาสมุนไพรเพื่อการปรับสมดุล ฟื้นฟูชี่พื้นฐานของร่างกาย



----> เครื่องดื่มสมุนไพรจีน จินจิน บำรุงสุขภาพ เสริมภูมิคุ้มกัน -
"Jin Jin" Chinese Herbal Drink


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเภสัชกรรม
LINE Official : @pharmacytcm


เอกสารอ้างอิง
1.    The State Councilthe People's Republic Of China. 关于印发新型冠状病毒肺炎诊疗方案(试行第六版)的通知  [Internet]. National Health Commission of the People's Republic of China; 2020 [cited 2020 Mar 28]. Available from: http://www.nhc.gov.cn/yzygj/s7653p/202002/8334a8326dd94d329df351d7da8aefc2.shtml?from=timeline

2. เย็นจิตร  เตชะดำรงสิน , วิชัย  โชควิวัฒน , อุทัย  โสธนะพันธุ์ , จรัส  ตั้งอร่ามวงศ์, สว่าง  กอแสงเรือง และคณะ (บรรณาธิการ) .  ตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2553.

3. วิชัย โชควิวัฒน, ชวลิต  สันติกิจรุ่งเรือง, เย็นจิตร  เตชะดำรงสิน (บรรณาธิการ).  ตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจกรรมโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.

4.  Baike Baidu. 射干麻黄汤  [Internet]. 2018 [cited 2020 Mar 29]. Available from: https://baike.baidu.com/item/%E5%B0%84%E5%B9%B2%E9%BA%BB%E9%BB%84%E6%B1%A4/3136729?fr=aladdin

5. คณาจารย์ คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. ถอดบทเรียนสู้ COVID-19 ตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศจีน โดยราชบัณฑิตด้านการแพทย์แผนจีนแห่งประเทศจีน ศาสตราจารย์จาง ป๋อหลี่[Internet]. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ; 2563 [cited 2020 Mar 27]. Available from: https://www.hcu.ac.th/news/836?fbclid=IwAR2Erhz5Vi9UR06irrN-RRJsT2AdSN5ZwqtOzSUfD2FwXyxOx269wfcZyR4

6.  Shenzhen Municipal Health Commission. 深圳市新型冠状病毒肺炎中医药预防指引 [Internet]. Shenzhen; 2020 [cited 2020 Mar 29]. Available from:http://wjw.sz.gov.cn/gzcy/ywzs/jbyf/202002/t20200228_19031399.htm

เรียบเรียงข้อมูลโดย
แพทย์จีน สุชานุช พันธุ์เจริญศิลป์

ที่ปรึกษา
เภสัชกรหญิง เย็นจิตร เตชะดำรงสิน

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
1. ดร.พจ.ภารดี แสงวัฒนกุล อาจารย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

ชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง ตำรับยา ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง COVID-19 清肺排毒汤 หมาซิ่งสือกันทัง อู่หลิงส่าน Qingfeipaidutan เซ่อกันหมาหวงทัง เสี่ยวไฉหูทัง ตำรับยาจีน ถอดบทเรียนสู้ COVID-19 โรคปอดอักเสบจากเชื้อ COVID-19 เซวียนเฟ่ยป้ายตู๋ทัง 宣肺败毒汤 โรคระบาดปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ Coronavirus ข้อระวังการใช้ยา ข้อระวังการใช้ยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง ยาจีนรักษาโควิด ยาจีนรักษาโควิด19 ยาสมุนไพรจีนรักษาไวรัสโคโรน่า เภสัชกรรม โควิด โควิด19 โควิดวันนี้ โควิดเราต้องรอด โควิดสมุนไพรจีน ไวรัสโควิด สถานการณ์โควิด19 ดูแลสุขภาพสู้โควิด สมุนไพรจีนโควิด ยาจีน ยาจีนโควิด ตำรับยาจีนกับโควิด19 กินยาจีน COVID COVID19 COVID Covidวันนี้ chineseherbs ชาสมุนไพรจีน ยาสมุนไพรจีน
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้